เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 5. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ 6 นิทานวัตถุ
5. จิตตาคารวรรค

สิกขาบทที่ 6
ว่าด้วยการให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักฟ้อนเป็นต้น

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[999] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาให้ของเคี้ยวของ
ฉันด้วยมือตนแก่พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวก
มายากลบ้าง พวกตีกลองบ้าง กล่าวว่า “พวกท่านจงกล่าวพรรณนาคุณของดิฉัน
ในที่ชุมนุมชน” พวกครูนักฟ้อนบ้าง พวกนักฟ้อนบ้าง พวกกระโดดไม้ค้ำบ้าง พวก
มายากลบ้าง พวกตีกลองบ้าง ต่างพากันกล่าวพรรณนาคุณของภิกษุณีถุลลนันทา
ในชุมนุมชนว่า “ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็นนักพูด แกล้วกล้า สามารถ
กล่าวธรรมีกถา พวกท่านจงถวาย จงกระทำ(สักการะ)แก่เธอ”
บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
แม่เจ้าถุลลนันทาจึงให้ของเคี้ยวของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้านเล่า” ครั้นแล้ว
ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาให้ของเคี้ยว
ของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้าน จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงให้ของเคี้ยวของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้านเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้
เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :250 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [4. ปาจิตติยกัณฑ์] 5. จิตตาคาวรรค สิกขาบทที่ 6 อนาปัตติวาร
พระบัญญัติ
[1000] ก็ภิกษุณีใดให้ของเคี้ยวหรือของฉันด้วยมือตนแก่ชาวบ้าน แก่
ปริพาชก หรือแก่ปริพาชิกา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[1001] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ ... ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ชาวบ้าน ได้แก่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่อยู่ครองเรือน
ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ นักบวชชายคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชก ยก
เว้นภิกษุและสามเณร
ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ นักบวชหญิงคนใดคนหนึ่งผู้อยู่ในลัทธิปริพาชิกา
ยกเว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ได้แก่ เว้นโภชนะ 5 น้ำและไม้สีฟัน ที่เหลือชื่อว่า ของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ 5 อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวตู ปลา
เนื้อ
คำว่า ให้ คือ ให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยการโยนให้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้น้ำและไม้สีฟัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :251 }